วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ไทดำชุมพร

การอพยพ มาสู่จังหวัดชุมพร ของไททรงดำ

การอพยพมาสู่จังหวัดชุมพร จากการสัมภาษณ์นายสี เทวบิน ซึ่งเป็นลาวโซ่งผู้หนึ่งที่ได้เดินทาง มาพร้อมกับผู้อพยพรุ่นแรก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
“ สาเหตุที่ต้องอพยพ เนื่องจากหมู่บ้านที่อยู่เดิม (อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี) มีพื้นที่ทำมาหากิน เช่น การทำนาน้อยลง ด้วยเหตุที่มีคนอาศัยอยู่มาก ไม่สามารถขยับขยายพื้นที่การทำนา และพื้นที่เพาะปลูกให้กว้างขวางขึ้นได้ และได้ทราบจากญาติพี่น้อง ที่ได้เดินทางมาซื้อควายเพื่อใช้ไถนาที่จังหวัดเพชรบุรีว่า พื้นที่จังหวัดชุมพร (ในสมัยนั้น จังหวัดชุมพรในปัจจุบันนี้เรียกว่า จังหวัดหลังสวน) มีทำเลเหมาะสมน่าอยู่อาศัยพื้นที่เหมาะกับการทำนา พื้นที่อุดมสมบูรณ์ การทำมาหากินสะดวก เพราะเป็นพื้นที่ราบ จึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง เดินทางมายังจังหวัดชุมพร”
จากคำถามที่ว่า “ท่านออกเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรีเมื่อไร” ท่านเล่าให้ฟังว่า
“ในตอนนั้นอายุได้ 6 ขวบ คือ ในราว พ.ศ. 2456 ตรงกับรัชสมัย รัชการที่ 6 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกเดินทางมายังจังหวัดชุมพร พร้อมกับบิดา มารดา (นายถัด นางจอม) และญาติพี่น้องอีก คือ นายเอก นายลอย นายพรม นายแย นายหม่น นายชม นายเกิด นางตูย นายหอม พร้อมบุตร และ ภรรยาของผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด โดยออกเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรี โดยสารรถไฟมา ถึงประจวบคีรีขันธ์ พักอยู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากต้องรอเรือโดยสาร (เรือรับส่งผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออกทุกจังหวัด เรือที่ใช้เป็นเรือกลไฟ หรือเรียกว่าเรือไฟ) เมื่อเรือมาถึงก็ออกเดินทาง จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาขึ้นฝั่งที่ปากน้ำชุมพร จังหวัดชุมพร เดินทางต่อไปโดยการโดยสาร เรือรับจ้างจากปากน้ำชุมพร มาขึ้นฝั่งที่หมู่บ้านบางผรา (อยู่ในตำบลท่ายาง ในปัจจุบันนี้) และเดินทางโดยทางเท้าต่อไป เพื่อที่จะหาทำเลที่จะตั้งบ้านเรือน และทำมาหากินต่อไป คณะที่ร่วมเดินทางมานั้น ได้แยกย้ายกันไปอยู่ที่หมู่บ้านต่างๆ โดยนายเอกได้ตั้งเรือนอยู่ที่ หมู่บ้านแหลมญวน นายลอย นายพรม นายแย อยู่ที่หมู่บ้านคอเตี้ย ที่เหลือก็ได้อยู่ที่หมู่บ้านดอนรวบบ้าง บางหลงบ้าง สำหรับผู้ที่อยู่หมู่บ้านบางหลง เมื่ออยู่ได้ประมาณ 3 ปี ก็ได้เดินทางไปอยู่ที่ปะทิว ท่าแซะ เนื่องจาก การทำนาไม่ได้ผล เพราะถูกหนู นก และสัตว์ป่าทำลายข้าวในนาเสียหายเป็นอันมาก และเพื่อนที่รู้จักกันเมื่อครั้งซื้อควาย ชักชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน อยู่ได้ประมาณ 3 ปี ญาติพี่น้องจากดอนรวบ เดินทางไปรับกลับมายัง หมู่บ้านดอนรวบอีกครั้งหนึ่งและอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากดอนรวบ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่สูง พื้นที่รอบบริเวณเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา เลี้ยงสัตว์”
เมื่อตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านดอนรวบ อยู่มาระยะหนึ่งก็ได้เดินทางไปชักชวนญาติพี่น้องที่อยู่จังหวัดเพชรบุรี มาทำมาหากินที่จังหวัดชุมพรอีก เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก พวกที่มาครั้งนี้ได้เดินทางมาโดยทางรถไฟ แล้วเดินทางมาสมทบกับลาวโซ่งที่มีอยู่เดิม และได้ทำมาหากินสืบสายมาถึงปัจจุบันนี้ มีไทยโซ่งมากกว่า 1,000 คน ลูกหลานของไทยโซ่งก็ได้เดินทางไปทำมาหากินแยกย้ายไปในท้องที่อื่นๆ อีกมากมาย
จาการสัมภาษณ์ นายสี เทวบิน ท่านได้เล่าให้ฟังอีกว่า
“สมัยก่อน ท่านได้ฟังการบอกเล่าของปู่ ย่า และ บรรพบุรุษว่า สมัยก่อนบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางมาจากเมืองจีน และได้เดินทางมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทร์ ในประเทศลาว ทหารไทยได้เดินทางยกกองทัพไปสู้รบกับฝรั่งเศส ตอนกลับจากสงครามพวกทหารได้นำคนลาวโซ่ง จากเมืองเวียงจันทร์ มายังกรุงเทพ และให้มาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และได้สืบเชื้อสายต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน”
จากคำถามที่ว่า “ ลาวโซ่งนั้นเคยมีนามสกุลหรือไม่ ” ท่านตอบว่า
“เมื่อตอนที่อยู่เมืองจีนนั้น ใช้แซ่อย่างเดียวกับคนจีน และใช้เรื่อยมาจนครั้งสมัยที่มาอยู่จังหวัดเพชรบุรี ระยะแรกเห็นว่าการเรียกแซ่นั้นเรียกยาก เลยเปลี่ยนคำว่า “แซ่” เป็นคำว่า “สิง” ตอนแรกผมใช้แซ่ว่า “แซ่ลอ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สิงลอ” หรือจากนายสี แซ่ลอ เป็น นายสี สิงลอ (แต่นามสกุลสิงลอ และ แซ่ลอ เป็นนามสกุลที่ใช้ในการนับญาติและใช้ในพิธีเสนเรือน เท่านัน ส่วนนามสกุลที่ทางราชการรับรอง คือ นามสกุล “เทวบิน” นี้ ได้มาใช้และตั้งขึ้นใหม่ ในรัชสมัย ร.6 ที่มี พ.ร.บ. การจัดตั้งชื่อสกุล และได้จัดตั้งนามสกุลนี้ที่จังหวัดชุมพร)”

วิถีชีวิตและภาษา
การดำรงชีวิตของชาวไทยทรงดำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา เป็นหลัก เช่นเดียวกับชาวชุมพรทั่วไป ส่วนภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นภาษาถิ่นชุมพร และภาษาลาวโซ่ง ชุมชนบ้านดอนรวบในปัจจุบันมีชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ประมาณ 160 ครัวเรือน มีความเป็นอยู่เหมือนกับคนในท้องถิ่น แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการแต่งกายไว้เมื่อมีพิธีกรรม หรืองานตามเทศกาลสำคัญๆเช่น ประเพณี เสนเฮือน เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ (ผีเรือน) ของชาวไทยทรงดำ จัดในช่วงเดือน 6-7 ของปี ถ้าบ้านใดประกอบพิธีนี้ เพื่อนบ้านจะช่วยงาน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ลักษณะของพิธีกรรมนี้ เริ่มจากหมอที่มีความรู้ เกี่ยวกับประเพณีเสนเฮือน เป็นผู้กำหนดรายละเอียดตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์สำหรับเซ่นไหว้ ซึ่งประกอบด้วยหมากพลู หมู สุรา ของหวาน และผลไม้จัดเป็นสำรับ จากนั้นจึงเริ่มพิธีที่ทำในช่วงเช้าโดยให้ญาติของเจ้าบ้านเข้าร่วมและมีการสวดเพื่อเรียกวิญญาณของบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้ ผู้เข้าร่วมในพิธีต้องแต่งกายพื้นบ้านแบบไทยทรงดำ ประเพณี ป้าดตง เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมของชาวไทยทรงดำที่จัดขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ผีเรือน ลักษณะของพิธีกรรมคล้ายกับประเพณีเสนเฮือน แต่จัดทุก 10 วัน พิธีกรรมนี้จัดขึ้นตามความเชื่อว่าผีเรือนจะช่วยปกป้องคุ้มครองให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุข และที่ทำกินมีความอุดมสมบูรณ์ต่อการดำรงชีวิต ทั้งสองพิธีกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันเป็นการแสดงความสามัคคี ความมีน้ำใจของคนในชุมชนด้วย
ชาวไทยทรงดำมีความเป็นอยู่ไม่แตกต่างไปจากชาวชุมพร เนื่องจากมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับคนในชุมชนอื่น ๆ ปัจจุบันชาวไทยทรงดำบ้านดอนรวบ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนดีเด่นของจังหวัดชุมพร เนื่องจากมีการทำกิจกรรมและผลงานที่โดดเด่น ทางเศรษฐกิจ ชุมชน ดังนี้
1.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านสุขาภิบาลดอนรวบเพื่อใช้เป็นกองทุนหมุนเวียน
2.จัดตั้งร้านค้านิยมไทย เพื่อสนองนโยบายของรัฐเรื่องการใช้ของไทย กินของไทย จัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองที่ผลิตในท้องถิ่น และจัดตลาดนัดประจำหมู่บ้านทุกวันอังคารและวันศุกร์ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น
3.จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจากแหล่งข้อมูล ต่าง ๆ ในรูปของการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย รวมทั้งกำหนดข้อบัญญัติหมู่บ้าน คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่เล่นการพนันขยันทำงานจัดออมทรัพย์ไว้ใช้ยามจำเป็นหลีกเลี่ยงยาเสพติด
4.ให้การสนับสนุนส่งเสริมอาหารกลางวันของโรงเรียนประจำหมู่บ้าน
5.จัดตั้งกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านดอนรวบ และนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมในระดับครัวเรือนและหมู่บ้าน โดยเน้นวัสดุท้องถิ่น เช่น การทำไม้กวาด การทำปุ๋ยหมัก งานกลึง งานเชื่อม เป็นต้น